เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [1. มหาวรรค] 5. วิโมกขกถา นิทเทส
การรู้แจ้งสัจจะมีได้ด้วยอาการเท่าไร บุคคลรู้แจ้งสัจจะด้วยอาการเท่าไร
คือ การรู้แจ้งสัจจะมีได้ด้วยอาการ 4 อย่าง บุคคลรู้แจ้งสัจจะด้วยอาการ 4
อย่าง ได้แก่
1. รู้แจ้งทุกขสัจว่า เป็นธรรมที่ควรรู้แจ้งด้วยการกำหนดรู้
2. รู้แจ้งสมุทยสัจว่า เป็นธรรมที่ควรรู้แจ้งด้วยการละ
3. รู้แจ้งนิโรธสัจว่า เป็นธรรมที่ควรรู้แจ้งด้วยการทำให้แจ้ง
4. รู้แจ้งมัคคสัจว่า เป็นธรรมที่ควรรู้แจ้งด้วยการเจริญ
การรู้แจ้งสัจจะมีได้ด้วยอาการ 4 อย่างนี้ บุคคลเมื่อรู้แจ้งสัจจะด้วยอาการ 4
อย่างนี้ เป็นสัทธาธิมุตด้วยอำนาจสัทธินทรีย์ เป็นกายสักขีด้วยอำนาจสมาธินทรีย์
เป็นทิฏฐิปัตตะด้วยอำนาจปัญญินทรีย์
การรู้แจ้งสัจจะมีได้ด้วยอาการเท่าไร บุคคลรู้แจ้งสัจจะด้วยอาการเท่าไร
คือ การรู้แจ้งสัจจะมีได้ด้วยอาการ 9 อย่าง บุคคลรู้แจ้งสัจจะด้วยอาการ 9
อย่าง ได้แก่
1. รู้แจ้งทุกขสัจว่า เป็นธรรมที่ควรรู้แจ้งด้วยการกำหนดรู้
2. รู้แจ้งสมุทยสัจว่า เป็นธรรมที่ควรรู้แจ้งด้วยการละ
3. รู้แจ้งนิโรธสัจว่า เป็นธรรมที่ควรรู้แจ้งด้วยการทำให้แจ้ง
4. รู้แจ้งมัคคสัจว่า เป็นธรรมที่ควรรู้แจ้งด้วยการเจริญ
5. รู้แจ้งธรรมทั้งปวงด้วยความรู้ยิ่ง
6. รู้แจ้งสังขารทั้งปวงด้วยการกำหนดรู้
7. รู้แจ้งอกุศลธรรมทั้งปวงด้วยการละ
8. รู้แจ้งมรรค 4 ด้วยการเจริญ
9. รู้แจ้งนิโรธด้วยการทำให้แจ้ง
การรู้แจ้งสัจจะมีได้ด้วยอาการ 9 อย่างนี้ บุคคลเมื่อรู้แจ้งสัจจะด้วยอาการ 9
อย่างนี้ เป็นสัทธาธิมุตด้วยอำนาจสัทธินทรีย์ เป็นกายสักขีด้วยอำนาจสมาธินทรีย์
เป็นทิฏฐิปัตตะด้วยอำนาจปัญญินทรีย์
ทุติยภาณวาร จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 31 หน้า :376 }